ซื้อกินเอง (self-medication)
  
คำแปล

คำคุณศัพท์. สามารถซื้อได้เองตามร้านขายยาโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ (non-prescription drug system)

 

คำใกล้เคียง

 

ยาที่ไม่ต้องมีใบสั่งยา (Over-the-counter-drugs= OTC)

คำคุณศัพท์. การซื้อยาเองโดยที่ไม่ผ่านบุคคกรทางการแพท์ใดๆ เช่นยาสามัญประจำบ้าน  

 

“ยาสามัญประจำบ้าน คือกลุ่มยาที่แนะนำให้มีติดบ้านไว้ เพื่อใช้ในการดูแลตัวเอง จากการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ประชาชนทั่วไปสามารถหาซื้อได้เอง (หรือซื้อกินเอง) ตามร้านสะดวกซื้อ ร้านขายยา และร้านขายของชำทั่วไป ยาปฏิชีวนะไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน”

 

“ในประเทศที่เจริญแล้ว ประชาชนไม่สามารถซื้อยาปฏิชีวนะกินเองได้ ในขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ ประชาชนสามารถซื้อยาปฏิชีวนะกินเองได้ ตามร้านขายยาทั่วไป”

 

“การที่สามารถหาซื้อยาปฏิชีวนะกินเองได้นั้น สามารถช่วยให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยเข้าถึงยาปฏิชีวนะได้ง่าย ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ก็สามารถใช้โดยไม่สมเหตุผลได้ ซึ่งกลุ่มหลังนี้เป็นสิ่งที่เป็นปัญหาและต้องแก้ไข”

 

“ในประเทศไทย แม้ว่ายาปฏิชีวนะเป็นยาควบคุม แม้ไปซื้อได้ตามร้านขายยา ก็ต้องซื้อจากเภสัชกรเท่านั้น อย่างไรก็ดี คนที่มาเรียกหายาปฏิชีวนะ ก็มักจะตอบว่า ซื้อไปให้เพื่อน ซื้อไปให้พ่อแม่ หรือต้องการยาปฏิชีวนะตัวนี้เท่านั้น แม้ได้รับคำแนะนำว่า หวัดเจ็บคอไม่ต้องกินยาปฏิชีวนะ ทำให้ยังยากกับการควบคุมการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล”

 

คลังการเรียนรู้

อันตรายจากการซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง

 

จากการศึกษาล่าสุดในประเทศไทยโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศและสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยร้อยละ 51 รับยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาลของรัฐ ร้อยละ 20 รับยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาลเอกชน ร้อยละ 27 รับยาปฏิชีวนะจากร้านขายยา และร้อยละ 2 รับยาปฏิชีวนะจากร้านขายของชำทั่วไป แม้ว่าร้อยละ 71 ของคนไทยรับยาปฏิชีวนะจากสถานพยาบาล[1] ผู้ป่วยอาจเรียกร้องยาปฏิชีวนะจากแพทย์ และสถานพยาบาลอาจยังไม่ได้ปรับใช้คำแนะนำการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างรับผิดชอบอย่างครบถ้วน เช่น “ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในโรคหวัดที่ไม่มีปอดอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย” และ “ใช้ยาปฏิชีวนะเฉพาะที่มีข้อบ่งชี้ถึงการติดเชื้อสเตรปโตคอคคัสอย่างน้อย 3 ข้อ เท่านั้น”[2]

 

ร้อยละ 27 ของคนไทยรับยาปฏิชีวนะจากร้านขายยา และร้อยละ 2 จากร้านขายของชำนั้นมีความเสี่ยงต่อการดื้อยา และแพ้ยาจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มยาปฏิชีวนะเข้าสู่ร่างกายโดยเปล่าประโยชน์  โรคที่เป็นอยู่ก็ไม่หาย ซึ่งองค์การเภสัชกรรมแนะนำว่าต้องกินยาอย่างถูกวิธี ต่อเนื่องจนครบและซึ้อยาจากร้านที่มีเภสัชประจำร้านดูแล และสามารถให้คำแนะนำการใช้ยาเท่านั้น[3] และควรฟังคำแนะนำของเภสัชกรอย่างเคร่งครัด ไม่เรียกร้องหายาโดยไม่ฟังคำแนะนำ

 

การซื้อยาปฏิชีวนะโดยไม่ต้องใช้ใบสั่งยานั้นยังพบได้ในประเทศที่กำลังพัฒนาเพราะยังเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการเข้าถึงยาของผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าไม่สามารถหาซื้อยาปฏิชีวนะได้ตามร้านขายยา โดยมีการกำหนดให้แพทย์เป็นผู้จ่ายยาได้เท่านั้นแต่ไม่มีระบบบริหารจัดการที่ดี ก็อาจทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากที่จำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะไม่ได้รับยา และเกิดความสูญเสียขึ้นได้

 

นอกจากนี้ความคิดเห็นของสาธารณชนและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับยาปฏิชีวนะก็มีส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนแปลง ประเทศมาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่อนุญาตให้มีการจำหน่ายยาปฏิชีวนะโดยไม่มีใบสั่งแพทย์[4] โดยใช้ข้อบังคับในการดูแลเรื่องสารพิษของประเทศ อย่างไรก็ตามพบว่าประเทศมาเลเซีย ก็ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะในระดับสูงได้[4] ดังนั้นการแก้ปัญหา ไม่ใช่แค่เพียงลดการซื้อยาปฏิชีวนะกินเองอย่างไม่ถูกต้องเท่านั้น  แต่ต้องมีการดำเนินการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลในสถานพยาบาลทุกแห่งอย่างจริงจัง[3] รวมทั้งต้องมีการให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลอย่างทั่วถึง

 

 

สามารถดูวีดีโอเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ไม่ควรซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง” ได้ที่

เตือน!  ป่วยเป็นหวัดอย่าซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง (ผลิตโดย TNN ช่อง 16 วันที่ 09/02/2561)

วิกฤตเชื้อดื้อยาจากการซื้อยากินเอง พบเสียชีวิตวันละ 100 คน (ผลิตโดย TNN ช่อง 16 วันที่ 11/25/2558)

 
รายการพบหมอรามา | Rama Report กินยาแก้อักเสบไม่เลือก.. อันตราย| 09. พ.ย. 58 (ผลิตโดย Rama Channel วันที่ 11/09/2558)                            

 

 

เอกสารอ้างอิง

1 สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2017). การสำรวจอนามัยและสวัสดิการ. (The 2017 Health and Welfare Survey). ISSN: 1906-2885

2 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล. (2015). คู่มือการดำเนินงานโครงการ โรงพยาบาลส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Rational Drug Use Hospital Manual) (1st ed.).:ISBN 978-974-244-368-9

3 Thepkhamram, P. (2014, July 4). เตือนซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เสี่ยงดื้อยา - Thaihealth.or.th | สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). Retrieved from http://www.thaihealth.or.th/Content/24951-เตือนซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เสี่ยงดื้อยา.html

4 Rahman, N. A., Teng, C. L., & Sivasampu, S. (2016). Antibiotic prescribing in public and private practice: A cross-sectional study in primary care clinics in Malaysia. BMC Infectious Diseases,16(1). doi:10.1186/s12879-016-1530-2

 

คำที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด

ดาวน์โหลดพจนานุกรมฉบับภาษาไทยได้ที่นี่